25 ข้อคิดในการจัดงานแต่งงาน – โดย OPONG

25 ข้อคิดในการจัดงานแต่งงาน - โดย OPONG

วันนี้ OPONG นำข้อคิดในการจัดงานแต่งงาน มาฝากว่าที่บ่าว-สาว ที่กำลังเตรียมตัวจัดงานแต่งจ้า

1. จริงอยู่ที่ชีวิตไม่ได้จบที่งานแต่งงานแค่วันเดียวค่ะ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาเถียงกันว่า ตอนจัดงานแต่งงานจะเอานู่นออกนี่ออก ถ้าบางอย่างเอาออกแล้วมันทำให้ไม่สบายใจในภายหลัง นั่นแปลว่าไม่ควรทำ ^^’

2. เดือนตุลาคม – มีนาคม เป็นเดือนที่มีคนจัดงานแต่งเยอะมาก คนใช้ฤกษ์เดียวกันทั้งประเทศ บ่าวสาวควรจองสถานที่ล่วงหน้าอย่างต่ำ 10 เดือน โดยเฉพาะในกรุงเทพ (จากประสบการณ์ของโอ) เพื่อกันห้องเต็มค่ะ

3. ฤกษ์ไหนก็ไม่ดีเท่าฤกษ์ที่บ่าว-สาว ญาติๆ คนรู้จัก สะดวกค่ะ

4. อย่าลืมว่างานนี้จัดเพื่อใคร ^^ ถ้าพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือ แฟนของคุณ มีสังคม & มีหน้าที่การงาน เราก็ต้องดูความเป็นจริงด้วยค่ะ ต้องเห็นใจกันค่ะ ..สมมติตัวเราเองไม่เป็นไร แต่คนอื่นในครอบครัวเจ้าสาว & เจ้าบ่าว จะเป็นอะไรรึป่าว

เพราะทุกคน – ทุกที่ต่างมีสังคมค่ะ อย่าลืมเรื่องนี้ด้วย

งานที่มีเฉพาะเพื่อน & ญาติสนิท คงจัดแบบกันเองได้ค่ะ แต่ถ้าเป็นงานของผู้ใหญ่ คงต้องพิจารณารูปแบบการจัดงานค่ะ ^^’ เพราะอย่างไรก็ต้องจัด … ดูความสบายใจของครอบครัว 2 ฝ่ายเป็นที่ตั้งค่ะ ^^

5. กลัวขาดดีกว่ากลัวเหลือ โดยเฉพาะเรื่องอาหาร, เรื่องห้องน้ำ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่จัดงานที่บ้าน) เพราะถ้าเหลือมันมีวิธีในการแก้ง่ายมากๆ แต่ถ้าขาดในวันจริง มันแก้ยากกว่ามากค่ะ

6. คนเราชอบของถูกและดี ของประหยัดและดี แต่มันมีหรือเปล่าในโลกมันอีกเรื่อง … การถ่าย Pre-Wedding หรือ ซื้อ Package จาก Wedding Studio ควรศึกษาราคามาตรฐานสากล ว่าร้านระดับนี้ ราคานี้ ควรได้อะไรเท่าไร … เพื่อประโยชน์ของตัวบ่าว-สาวเอง

7. ศึกษาข้อมูล & ค่าใช้จ่าย – ก่อนทำอะไรควรศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเองก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ต้องจ่ายเงิน ^^”

8. สูตรคำนวณอาหาร & การ์ด มันมีอยู่แล้วค่ะ ^^ แต่ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นไปตามที่คำนวณ 100% บางอย่างต้องใช้ COMMON SENSE

เพราะเราเป็นมนุษย์ เราต้องดูนิสัยมนุษย์ พฤติกรรมมนุษย์เวลาจัดงาน อย่าพึ่งพาแต่ทฤษฏีเพียงอย่างเดียว

ที่สำคัญ เราไม่ควรใช้มาตรฐานตัวเราเพียงคนเดียวมาเป็นเกณฑ์การจัดงาน เช่น ปกติฉันไปงานคนอื่น ฉันกินน้อย … ฉันคิดว่าถ้าจัดงานเอง ฉันจะสั่งอาหารมาน้อยๆ คนอื่นๆคงเป็นเหมือนฉัน …. ความเป็นจริงคือ มนุษย์ไม่ได้เหมือนกันทุกคน และถ้าอาหารไม่พอ หรืออะไรไม่พอ คนที่เดือดร้อนคือคนที่มาร่วมงาน เช่น ญาติๆเราที่เดินทางมาไกล งานเลี้ยงฉลองเราจัดเพื่อขอบคุณแขกที่มาร่วมงาน คนกันเองทั้งนั้นเลย

9. เรื่องสินสอด & ทองหมั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเจ้าบ่าวในการตัดสินค่ะ ให้ผู้ใหญ่คุยกันค่ะ เราเองต่างรู้ว่าสินสอดทองหมั้นเป็นเรื่องของพิธีไทย

10. จัดงานไปตามกำลังและอัตภาพค่ะ บางคนคิดว่างานแต่งงานเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องวันเดียว โดยคิดไม่ถึงว่าเรื่องเล็กๆอาจเป็นเรื่องที่ทำให้คนทะเลาะผิดใจกันไปอีกนาน ฉะนั้น จะทำอะไรก็ต้องดูความสบายใจของทั้ง 2 ครอบครัว และดูความสบายใจของบ่าวสาวเองค่ะ และอย่าลืมปล่อยวางที่เรื่องแล้วไปแล้วด้วยค่ะ

11. บ่าวสาวที่ต้องซื้อทองด้วยตัวเอง อย่าลืมเรื่อง “ค่ากำเหน็จ”

รับฟังอีกฝ่ายด้วย … งานแต่งงานไม่ได้เป็นของ ‘เจ้าบ่าว’ หรือ ‘เจ้าสาว’ เพียงฝ่ายใดฝ่ายเดียว

ถ้าเจ้าสาวเป็นคนจัดการเรื่องต่างๆเก่ง แต่อย่างน้อย ควรสอบถามหรือบอกกล่าวเจ้าบ่าวบ้าง หรือให้เจ้าบ่าวได้เลือกในสิ่งที่ชอบบ้าง อย่าเอาแต่ความคิดเห็นตัวเองเป็นใหญ่ ให้ทั้งสองฝ่ายได้มีส่วนร่วมด้วยกันค่ะ

12. แต่ถ้าถามโอนะ ถ้าโอจะทำอะไร โอจะบอกแฟนเสมอ และคุยกันให้เข้าใจเสมอ เพราะเราเป็นคู่กัน มีอะไรต้องคุยกัน อย่าตัดสินใจอะไรแค่คนเดียว ตัดสินใจด้วยกัน นึกถึงใจทุกฝ่ายค่ะ

13. อย่าใช้คำว่า “ฉันไม่ชอบ” มาเป็นวิธีบังคับให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ควรคุยกันด้วย “เหตุผล” ค่ะ เพราะว่า ถ้าอีกฝ่ายพูดขึ้นมาบ้างว่า “แต่ฉันชอบของฉัน และฉันไม่ชอบวิธีคิดของเธอ” เมื่อนั้น ชีวิตของคุณจะไม่สงบสุขเลยค่ะ พยายามเห็นใจและเข้าใจกันค่ะ คุณเป็นคู่กัน และจะทำอะไรก็คิดถึงใจทั้งคู่ อย่าใช้เกณฑ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นตัวตัดสิน

14. การประหยัดเป็นเรื่องดีมากๆค่ะ แต่อย่างที่บอกไป…. งานนี้จัดเพื่อใคร? เพราะถ้าเป็นงานที่มีแต่คนในครอบครัว 10 คน เราเชื่อว่าไปจดทะเบียนสมรสและเลี้ยงข้าวดีดีซักมื้อก็จบ … แต่ถ้ามีแขกผู้ใหญ่ ญาติผู้ใหญ่มา และด้วยตำแหน่งหน้าที่การงานหรือทางสังคมที่ต้องจัด ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องจัดอีกแบบ

15. วิธีเหลียกเลี่ยงบทสนทนา ประเภท “แล้วถ้า….. ” , “ถ้าซุ้มอาหารตั้งไม่พอล่ะ”, “ก็อย่างนั้นสิ อย่างนี้สิ” … คือ ตอบไปว่า “เดี๋ยวพรุ่งนี้เราถามเซลล์โรงแรมกันดีมั้ยจะได้รู้ชัวร์ๆ” (จะได้ไม่ต้องเถียงกันให้ปวดหัว) ….. เรื่องไหนที่ไม่ควรคิดเอง ก็อย่าคิดเองเลยค่ะ ถามผู้รู้ดีกว่า

อย่าทะเลาะกันด้วย “เรื่องที่ยังไม่เกิด” และไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิด

(มีเรื่องเล่าว่า..อย่าทะเลาะกันก่อนผลหวยจะออก ^^” อย่าเพิ่งแบ่งสมบัติกันก่อนหวยออก เพราะยังไม่รู้ว่าจะถูกหวยกินรึป่าว)

16. “อย่ากลัวที่จะพูดความต้องการของตัวเอง” โดยเฉพาะเรื่องที่ให้คนอื่นตัดสินแทนคุณไม่ได้ เช่น เลือกชุด, เรื่องที่ต้องตัดสินใจเอง เป็นต้น เพราะถ้ามันออกมาไม่ถูกใจ ไม่มั่นใจ ก็จะได้ไม่คิดโทษคนอื่นในภายหลัง ให้ตัดสินใจด้วยตัวเอง

17. “สปาผิว” ถ้าจะจ่ายเงินกับสปาผิวไม่กี่ครั้งก่อนงานแต่ง บางทีเอาเงินไปจ้างช่างแต่งหน้าดีดีคุ้มกว่าค่ะ : สำหรับโอ…โอคิดว่าสปาผิวต่างๆ ช่วยให้ร่างกายสดชื่นค่ะ แต่การทำไม่กี่ครั้ง และการไม่ดูแลตัวเองเรื่องการกิน & การนอน มันไม่ได้ช่วยให้ผิวสวยขึ้นค่ะ

ดีไม่ดี ไปลองสปาที่ไม่ดูให้ดี ระวังแขนขาจะแพ้เป็นผื่นแดงก่อนคืนงานแต่ง แก้อะไรไม่ได้ค่ะ โอมีประสบการณ์เคย Wax ขนแขน 1 วัน ก่อนวันสำคัญ ปรากฏว่าเกิดเรื่องไม่คาดคิดขึ้น เจลผึ้งมันร้อนเกินไป ทำให้แขนเป็นร้อยแดงไหม้ ทางร้านก็แก้อะไรให้ไม่ได้ โอก็แก้อะไรไม่ได้นอกจากทำใจ กว่ารอยมันจะจางได้ก็ 3 เดือนกว่าๆ เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์กับโอมากๆ และอยากให้เป็นข้อคิดสำหรับบ่าวสาวด้วยน้า

18. ทดสอบ File VDO Presentation กับเครื่องเล่นตัวจริงก่อนวันงานเสมอ

19. คอนเฟิร์มและเช็กทุกอย่างกับช่าง, ทีมงาน ก่อนเสมอ อย่าปล่อยเรื่องเล็กๆน้อยๆทำให้คุณนอนไม่หลับ หรือ เสียดายเสียใจในภายหลัง

20. กล้าถาม กล้าคุย อย่าเสียสิทธิ์ และอย่าปล่อยให้เรื่องบางเรื่องทำให้คุณนอนไม่หลับหรือเป็นกังวล

อะไรที่ผ่านไปแล้ว มันเป็นบทเรียนค่ะ ทำสิ่งที่ดีกับตัวเอง & เจ้าบ่าว และ ครอบครัว ค่ะ

มีอะไรก็พูดคุยกันด้วยเหตุผล มันไม่ใช่เรื่องที่จะเอาชนะกันค่ะ แต่อะไรที่มันดีกับครอบครัวก็ควรทำค่ะ แต่อย่าพูดตำหนิ่กันซ้ำๆ คุยเรื่องดีดีกันดีกว่า

21. จัด – บรีฟทีมงาน อย่าลืมวางแผนให้ดีก่อนที่จะถึงวันงานนะคะ แบ่งหน้าที่ อย่าลืมแลกเบอร์ บอก LIST เบอร์โทร ชื่อติดต่อ หรือทำ GROUP LINE ระหว่างเพื่อนเจ้าสาว-เจ้าบ่าว & ทีมงาน เวลามีอะไรจะได้ติดต่อกันสะดวกค่ะ

22. การนัดช่างแต่งหน้า – เวลานัด ควรจะบอกให้ละเอียด เช่น นัดวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2558 เวลา 14.00 น. (หรือบ่าย 2) และบอกสถานที่ …. (ไม่ควรพูดว่า อาทิตย์ที่ 16 เดือนหน้า … ควรพูดให้ชัดเจน) และก่อนวันงาน 1 วัน ช่วงบ่ายๆ-เย็นๆ ต้องคอนเฟิร์มกับช่างอีกรอบ กันลืม!!

23. เรื่องเก็บซอง – ตู้เซฟโรงแรมมันไม่ได้ใหญ่ขนาดบรรจุซองขนาดมากกว่า 100+ ซองได้หรอกค่ะ

24. ใครทะเลาะกันเรื่องเก็บซองไหมคะ? บางคนอยากเก็บซองเก็บเงินด้วยตัวเอง แต่รู้ไหม ว่าเรื่องรับผิดชอบเรื่องการเงินเป็นเรื่องที่น่าปวดหัวที่สุด โดยเฉพาะการที่ต้องมารับผิดชอบเงินจำนวนมากๆด้วยตัวเอง

25. การสื่อสารที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ที่จะทำให้บ่าว-สาวและทุกๆคนเข้าใจกัน แต่อย่าคุยกันด้วยอารมณ์ ให้คุยด้วยเหตุผลและหาจังหวะที่เหมาะสมค่ะ

อุ้ย แถมอีกข้อ! อย่าลืมดูแลคนที่มาช่วยจัดงาน เช่น ตากล้อง ช่างภาพ เพื่อนเจ้าบ่าวเจ้าสาว อย่าให้หิวจนตาลายนะคะ ^^

บทความโดย: OPONG รีวิว “จัดงานแต่งงาน” (แบบหมดเปลือก) – WeddingReview.net


Follow ติดตามแฟนเพจ Facebook “คู่มือจัดงานแต่งงาน by OPONG

บทความที่คุณอาจสนใจ

Report

What do you think?

0 Points
Upvote
ว่าด้วยเรื่อง "สินสอด & ทองหมั้น"

ว่าด้วยเรื่อง “สินสอด & ทองหมั้น”

ราคาแพ็กเกจถ่ายรูป Picgy – All about Wedding รวม พรีเวดดิ้ง & ช่างภาพงานแต่ง ช่างถ่ายวิดีโอ 2558